บทที่ 6

พลังงานกับคุณภาพชีวิต

พลังงาน (Energy) หมายถึง ความสามารถในการทำงานซึ่งเป็นผลจากการกระทำของแรงเป็นเหตุให้วัตถุเกิดการเคลื่อนที่ พลังงานที่ปรากฏในชีวิตประจำวันที่มนุษย์เรารู้จักกันดีมีอยู่มากมาย นับตั้งแต่พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่ พลังงานจากแรงโน้มถ่วงของโลก พลังงานกาย เป็นต้น
แหล่งที่มาของพลังงานสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ แหล่งพลังงานที่ใช้แล้วไม่สูญสิ้น และแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป
พลังงานสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ พลังงานจลน์ และพลังงานศักย์
พลังงานเป็นสิ่งที่จำเป็นในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ความมั่นคงของประเทศ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ การเพิ่มขึ้นของประชากรมีผลทำให้ความต้องการพลังงานมีเพิ่มขึ้นด้วย พลังงานในชีวิตประจำวันมีหลายรูปแบบ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นต่อมนุษย์ทั้งสิ้น ซึ่งพลังงานเหล่านี้ ได้แก่ พลังงานจากถ่านหิน พลังงานจากปิโตรเลียม พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ พลังงานจากลม พลังงานจากน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานชีวมวล พลังงานไฟฟ้า และพลังงานนิวเคลียร์
ความต้องการใช้พลังงานเพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง อันเป็นภาระแก่ประเทศในการลงทุนเพื่อจัดหาพลังงานทั้งในประเทศและนอกประเทศไว้ใช้ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว และปัจจุบันการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้มี การผลิตและใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนก่อให้การเกิดผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและวัสดุที่ใช้ในการอนุรักษ์พลังงานขึ้นภายในประเทศ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้และใช้พลังงานอย่างมีคุณค่า