บทที่ 2

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

คุณภาพชีวิต (Quality Of Life : QOL) หมายถึง การดำรงชีวิตของมนุษย์ในระดับที่เหมาะสมตามความจำเป็นพื้นฐานที่ได้กำหนดไว้ในสังคมหนึ่งๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ และคนที่มีคุณภาพชีวิต เป็นบุคคลที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข ไม่เป็นบุคคลที่มีปัญหาและสามารถจัดการกับแรงปะทะจากภายนอกได้ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่มีทักษะชีวิต (Life Skills) ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่สามารถปรับตัวให้อยู่บนความสมดุล สามารถจัดการกับความต้องการและสิ่งท้าทายในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบุคคลนั้นยังมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และอาศัยองค์ประกอบของทักษะชีวิต ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทักษะวิเคราะห์หาเหตุผล กลุ่มทักษะในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดี และกลุ่มทักษะเพื่อการสังคม
ดังนั้นในการจะบอกได้ว่าประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่นั้น ต้องมีการกำหนดความจำเป็นพื้นฐาน (จ.ป.ฐ.) ของสังคมให้ชัดเจน และนอกจากความจำเป็นพื้นฐานแล้วยังต้องกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนด้วย ซึ่งความจำเป็นพื้นฐาน ก็คือความต้องการพื้นฐานหรือความต้องการขั้นต่ำที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์แต่ละคนในสังคมนั่นเอง และการที่จะพัฒนาให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ประชากร การศึกษา เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง และวัฒนธรรมในสังคมไทย
ทั้งนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง มีความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ประเทศที่พัฒนาแล้วย่อมมีประชากรที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีเป็นอันมาก ทั้งในด้านการผลิต การอุตสาหกรรม การเกษตร การแพทย์ และอื่นๆ โดยควรคำนึงถึงความสำคัญของการสร้างและการใช้ประโยชน์จากบุคคลที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ามากขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ
ซึ่งในปัจจุบันมนุษย์ได้นำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้หลายๆ ด้าน ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และมีอิทธิพลต่อความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ที่ทำให้มนุษย์ได้รับประโยชน์ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีเลเซอร์ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีอวกาศ