บทที่ 5

วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิต

วิทยาศาสตร์การกีฬา หมายถึง การนำความรู้ที่ได้โดยการสังเกต ค้นคว้าหาหลักฐานและเหตุผลมาใช้กับกิจกรรมการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย เพื่อให้เกิดความสนุกสนานและคุณประโยชน์ในด้าน การส่งเสริมสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
ตราบใดก็ตามเมื่อมนุษย์ยังต้องมีการเคลื่อนไหว การกีฬาหรือการออกกำลังกายย่อมมีบทบาทส่งเสริมการเคลื่อนไหวให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ฉะนั้นการกีฬาจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ การดำรงชีวิตประจำวัน
สมรรถภาพทางกาย เป็นความสามารถของร่างกายที่ใช้อวัยวะต่างๆ ได้เป็นอย่างดีเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เกิดความเหนื่อย หรือเกิดน้อยและมีพลังงานเหลือในร่างกายที่จะประกอบกิจกรรมฉุกเฉินหรือนันทนาการได้ ซึ่งสมรรถภาพทางกายสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สมรรถภาพทางกายทั่วไป และสมรรถภาพทางกายพิเศษ ซึ่งลักษณะของผู้ที่มีสมรรถภาพทางกายที่ดีนั้นต้องประกอบด้วยสุขภาพจิตดี และสุขภาพของร่างกายดี
การออกกำลังกาย (Exercise) เป็นกิจกรรมของกล้ามเนื้อที่ทำให้ร่างกายมีสุขภาพและรูปร่างดี เพิ่มทักษะและศักยภาพในกีฬา ตลอดจนฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังจากการบาดเจ็บหรือพิการได้อีกด้วย ประเภทของการออกกำลังกาย สามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ Isometric Exercise หรือ Static Exercise , Isotonic Exercise หรือ Dynamic Exercise , Isokinetic Exercise , Anaerobic Exercise , Aerobic Exercise ซึ่งการออกกำลังกายแบบ Aerobic Exercise นี้นับว่าเป็นแบบที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ร่างกาย เพราะการออกกำลังกายแบบ Aerobic Exercise มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการบริหารให้ร่างกายเพิ่มความสามารถสูงสุดในการรับออกซิเจน ซึ่งจะส่งผลให้ปอดหายใจเร็วเพื่อให้ได้ปริมาณอากาศมากที่สุด หัวใจเต้นเร็วขึ้นและสูบฉีดโลหิตแรงขึ้น โลหิตในร่างกายมีการไหลเวียนมากขึ้น ออกซิเจนถูกจ่ายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ปอดมีประสิทธิภาพ หัวใจแข็งแรง และระบบหลอดโลหิตดีขึ้น
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพควรจะใช้เวลาติดต่อกันตั้งแต่ 15 นาทีขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง ลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่า การออกกำลังกายครบ 1 รอบ คือ การออกกำลังกายติดต่อกันตั้งแต่เวลา 15 นาที ถึง 60 นาที ซึ่งเราอาจจะกำหนด 20 นาที หรือ 30 นาทีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลซึ่งไม่เหมือนกัน ดังนั้นการออกกำลังกายครบ 1 รอบ ควรจะประกอบได้ด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้ Warm - up Period , Conditioning Period , The Circulatory Activity Period หรือ Exercise Training , The Cool Down Period